ประวัติองค์กร


17 ต.ค. 2016    ณัฐพล    43

 

 

 

 

 


การบริหารราชการมาแต่เดิมนั้นได้มีการ ประกาศตั้ง “ กองอุตสาหกรรม ” สังกัดอยู่กรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐการ ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดวางระเบียบ การสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ (ฉบับที่ 13) ตราไว้ ณ วันที่ 25 มกราคม 2479

กองอุตสาหกรรมนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนและค้นคว้า ควบคุม คุ้มครอง การอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กระทำการอยู่แล้วและจะเกิด ใหม่ให้ดำเนินการตามแบบแผนและวิธีการที่ดี ในขั้นแรก ดำเนินการให้ความสำคัญและเน้นหนักในด้านการส่งเสริม
อุตสาหกรรมในครอบครัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงเศรษฐการ (ฉบับที่ 7) ตราไว้ ณ วันที่ 1 เมษายน 2481 และให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านด้านควบคุมโรงงานและส่งเสริมการเผยแพร่กิจกรรมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งบริหารร้านจำหน่าย สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศชื่อ “ร้านไทยอุตสาหกรรม”ปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลเห็นความสำคัญของกองอุตสาหกรรมต่อการพัฒนาอุตสาหรกรรมภายใน ประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น  จึงได้ยกฐานะกองอุตสาหกรรมขึ้นเป็น  “กรมอุตสาหกรรม” ในกระทรวงเศรษฐกิจตามพ.ร.บ ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ.2484

ปี พ.ศ.2485 รัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม

พ.ศ. 2485 จัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
สังกัดในกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2485 โดยมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่จำเป็นของประเทศ

ปี พ.ศ. 2518 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยายงานไปสู่ส่วนภูมิภาค  โดยจัดตั้งกองบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2518 รวมทั้งได้ขยายงานไปสู่ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น  ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 2532  ได้ขยายงานไปสู่ภาคตะวันตก  ณ  จังหวัดสุพรรณบุรี  และภาคตะวันออก  ณ  จังหวัดชลบุรี

ปี พ.ศ. 2536 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเพิ่มขึ้นอีก 6 ศูนย์ ณ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี รวมเป็น 11 ศูนย์  เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

ปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่5) พ.ศ.2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พ.ศ.2545  เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 จึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ และวิธีการบริการงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถ ปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีการวัดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบของการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

ปี พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีมีนัดพิเศษ  เมื่อวันที่  17  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2546  ได้จำแนกกลุ่มจังหวัดไว้  19  กลุ่ม  โดยให้แต่ละจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน  จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่  7  จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดอุบลราชธานี  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2548

ปี พ.ศ. 2550 ดำเนินการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549  เพื่อปรับปรุงและพัฒนา ส่วนราชการและวิธีปฏิบัติงาน ตลอดจนระบบบุคคลให้ทันสมัยและรองรับกับยุทธศาสตร์ และคำรับรองการปฏิบัติราชการของกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม  โดยจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์ และปรับเปลี่ยนสำนักงานเลขานุการกรมเป็นสำนักบริหารกลางรวมทั้งแยกสำนักพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเป็นสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม  และสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ  ทั้งนี้  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม  ณ  วันที่  23  มกราคม  พ.ศ. 2551

 
Tags: